16 ชาติร่วมชิงสวิงชิงถ้วย ร.7 สนามปัญญาฯ

รวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์ (แถวหลังกลาง) กก.ประชาสัมพันธ์ ส.กีฬากอล์ฟฯ ร่วมถ่ายภาพกับตัวแทนนักกอล์ฟจากทั้ง 16 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันกอล์ฟ "สิงห์ ไทยแลนด์ อเมเจอร์ โอเพ่น ครั้งที่ 85" ที่สนามปัญญาอินทรา เมื่อ 30 ก.ย.62
16 ชาติ เข้าร่วมชิงชัยศึกกอล์ฟสมัครเล่นชิงแชมป์ประเทศไทย "สิงห์ ไทยแลนด์ อเมเจอร์ โอเพ่น ครั้งที่ 85" ชิงถ้วยพระราชทาน รัชกาลที่ 7 โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา มีพิธีเปิดการแข่งขัน ณ สนามปัญญาอินทรากอล์ฟคลับ ด้าน 2 สวิงไทย นพรัฐ พานิชผล และสรัลชนา รัตนสินธุ์ เชื่อมั่นเก็บชัยได้ในบ้าน


รายการนี้ สมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทย ฯ ร่วมกับ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด, การกีฬาแห่งประเทศไทย และผู้ร่วมสนับสนุน จะจัดการแข่งขัน ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 85 ใช้ระบบสโตรกเพลย์ 4 วัน 72 หลุม ระหว่างวันที่ 1-4 ตุลาคม 2562 ที่สนามปัญญาอินทรากอล์ฟคลับ กรุงเทพฯ (คอร์สบี และซี) พาร์ 70 ชายแข่งระยะ 6,812 หลา หญิงแข่งระยะ 6,008 หลา ผู้ชนะเลิศประเภทบุคคลชาย ได้ครองถ้วยพระราชทาน รัชกาลที่ 7 ส่วนประเภทบุคคลหญิง ครองถ้วยเกียรติยศ นายรังสฤษดิ์  ลักษิตานนท์ นายกสมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทยฯ

งานดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายรวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์ กรรมการประชาสัมพันธ์ สมาคมกีฬากอล์ฟฯ เป็นประธานเปิดการแข่งขัน โดย นายรวินทร์ กล่าวว่า "รายการนี้ถือเป็นการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุด และยาวนานที่สุดของไทย และมีนักกอล์ฟต่างชาติให้ความสนใจ ซึ่งครั้งนี้รวมถึงนักกอล์ฟไทยมีทั้งสิ้น 16 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน แม้ว่าจะเป็นก้าวเล็กๆ แต่เป็นการมุ่งเน้นในการพัฒนานักกอล์ฟขึ้นสู่ระดับโลกได้มีการต่อยอดไปเรื่อยๆเติบโตเป็นระบบไม่ขาดสาย"

ปีนี้มีนักกอล์ฟจากประเทศต่างๆ 16 ชาติ รวม 130 คน ร่วมชิงชัย ได้แก่ ออสเตรเลีย, ฟินแลนด์, ฮ่องกง, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เลบานอน, มาเลเซีย, เนปาล, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไต้หวัน, สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และประเทศไทย ในส่วนของนักกอล์ฟไทยร่วมแข่งขัน 51 คนแบ่งเป็นชาย 28 คนและหญิง 23 คน นำโดยผู้เล่นทั้งทีมชาติและเยาวชนร่วมดวลสวิง อาทิ นพรัฐ พานิชผล(แชมป์บุคคลชาย),ธนกร ตอสี,วีรวิชญ์ นาคประชา, เอกรัฐ เล็กสุวรรณ,วิชญ์ ปิติพัฒน์,ฐปรัตน์ บุญศักดิ์นานนท์(แชมป์บุคคลหญิง),ณัฐกฤตา วงศ์ทวีลาภ,สรัลชนา รัตนสินธุ์,พรรณรายณ์ มีสมอรรถ และดลใจแมน บุญถม  เป็นต้น

นายรวินทร์ เผยต่อว่า "ถ้ากอล์ฟอยู่บนโลกนี้มาเป็นร้อยๆปีและยังมีคนนิยมอยู่ และถ้วยนี้อยู่ในเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 1930 จนปัจจุบันปี 2019 แสดงให้เห็นว่านี่เป็นหนึ่งในรายการที่นักกอล์ฟเยาวชนทุกคนให้ความสำคัญ การได้แข่งรายการนี้เท่ากับเป็นการวัดระดับความสามารถ ที่ผ่านมามีนักกอล์ฟรุ่นพี่หลายคนที่ผ่านการแข่งขันนี้ไม่ว่าจะเป็น โปรบุญชู เรืองกิจ, โปรอาร์มกิรเดช อภิบาลรัตน์ สิงห์ได้มีส่วนผลักดันในการสร้างนักกอล์ฟเหล่านี้ และเรามีความภูมิใจและยังแน่วแน่ในการให้ความสนับสนุนต่อไป"

ด้าน "เอด้า" นพรัฐ พานิชผล สวิงทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ ฟิลิปปินส์ แชมป์เก่ารายการนี้จากปีที่แล้ว เผยว่า "เตรียมพร้อมเรื่องลูกสั้น ชอตขึ้นกรีน เพราะที่นี่ชอตสองสำคัญมาก ถ้าขึ้นกรีนถูกมุมจะทำได้ง่าย ตื่นเต้นที่จะกลับมาป้องกันแชมป์ ตอนนี้เพิ่งกลับมาจากแมตช์ เอเอซี ที่จีน ไม่ได้ลงซ้อมเลย แต่ก็คุ้นเคยกับสนามนี้ น่าจะทำให้ได้เปรียบในการลงเล่นครั้งนี้" ด้าน สรัลชนา รัตนสินธุ์ วัย 16 ปี แชมป์จูเนียร์เวิลด์ 2019 เผยว่า "เล่นเป็นหนที่ 2 เตรียมตัวมาน้อย เพราะเพิ่งสอบเสร็จ แต่ก็เพิ่งจะลงแข่งในแมตช์ ไทยแอลพีจีเอ มาสเตอร์ส เมื่อเร็วนี้ ก็น่าจะลุ้นทำผลงานได้ดี ขอติดแค่ท๊อป 5 ก็พอ"

สำหรับนักกอล์ฟต่างชาติที่น่าจับตามอง ได้แก่ ยูโตะ วาตานาเบ้ และโชกะ ฟูรูย่า สองนักกอล์ฟดาวรุ่งชาย-หญิงจากญี่ปุ่น, อีเกิ้ล เอช ซูเพอรัล สาวน้อยวัย 14 ปีจากฟิลิปปินส์ เป็นต้น

การแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นชิงแชมป์ประเทศไทย “สิงห์ ไทยแลนด์ อเมเจอร์ โอเพ่น” ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เป็นรายการแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดในประเทศไทย เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2473 ซึ่งที่ผ่านมามีนักกอล์ฟแถวหน้าของเมืองไทย ต่างผ่านการครองถ้วยใบนี้มาแล้ว อาทิ บุญชู เรืองกิจ ปี 2526-2528, ถาวร วิรัตน์จันทร์ ปี 2529, ธรรมนูญ ศรีโรจน์ ปี 2532, ประหยัด มากแสง ปี 2533, ธงชัย ใจดี ปี 2541,พรหม มีสวัสดิ์ ปี 2543-2545 ,”ซูม” วิทยานนท์ โชติหิรัญรุ่งเรือง และ “ป๊อบ”กุลธิดา พราหมพันธุ์ สองนักกอล์ฟทีมชาติชุดเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซียก็เคยคว้าแชมป์ไปได้เมื่อปี 2017และล่าสุดในปี 2018 แชมป์บุคคลชายและหญิงตกเป็นของ “เอด้า”นพรัฐ พานิชผล นักกอล์ฟทีมชาติชุดซีเกมส์ 2019ซึ่งกำลังจะแข่งขันกันที่ประเทศฟิลิปปินส์ และ “ทิวลิป”ฐปรัตน์ บุญศักดิ์นานนท์ นักกอล์ฟดาวรุ่งวัย 17 ปีจากกรุงเทพฯ


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม